สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนายาภูมิต้านมะเร็ง (Cancer Immunotherapy) ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย อาจารย์ นายแพทย์ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ได้จัดตั้งโครงการวิจัยพัฒนายา Biologics หรือ ยาภูมิต้านมะเร็ง ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตยาภูมิต้านมะเร็งเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีความแม่นยำในการรักษา ทั้งนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหมด และยังเป็นหนึ่งในโรคที่มีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงที่สุด ผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานโดยการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง ยังต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่รุนแรงและยังรักษาไม่หายขาด ยาภูมิต้านมะเร็งเป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ ได้มีงานวิจัยในมะเร็งหลายชนิดพบว่ายาภูมิต้านมะเร็งมีประสิทธิภาพที่ดีมาก สามารถกระตุ้นให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุด และล่าสุดในปี 2560 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการรองรับการรักษาด้วยยาภูมิต้านมะเร็งแล้ว อย่างไรก็ตาม ยาภูมิต้านมะเร็งที่มีการผลิตในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงหลักสิบล้านบาทต่อการรักษาผู้ป่วย 1 คน ส่งผลให้ราคาของยาชนิดนี้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาที่ดีของผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทย

สำหรับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ท่านที่ยื่นภาษีออนไลน์ สามารถร่วมบริจาคเงินการโอนเงินผ่านระบบ e-donation ของกรมสรรพากร ด้วยการสแกน QR code ที่แนบในหน้านี้ จากแอพธนาคารของท่าน ซึ่งท่านจะไม่ต้องยื่นเอกสารใดๆเพิ่มเติม ระบบของธนาคารจะเชื่อมโยงกับกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ

หรือสามารถบริจาคผ่านทางการโอนเงิน บัญชีกระแสรายวัน ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์ สภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-304-669-7 และส่งหลักฐานการโอน และแจ้งที่อยู่สำหรับส่งใบเสร็จ มาที่ http://canceriec.md.chula.ac.th/donation/

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line ID @cucancer

เพิ่มเพื่อน

ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการส่งใบเสร็จไปตามที่อยู่ที่ท่านแจ้งไว้ ท่านสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งผลสำเร็จที่จะได้จากโครงการระยะยาวนี้ จะมีคุณประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมาก เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง


สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับการพัฒนายาภูมิต้านมะเร็งจากช่อง ThaiPBS

 

เสื้อคอลเลกชันพิเศษ สมทบทุนวิจัยยาภูมิต้านมะเร็ง

เสื้อคอลเลกชันพิเศษ รายได้สมทบทุนวิจัยและพัฒนายาภูมิต้านมะเร็ง (Cancer Immunotherapy) โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพการรักษาด้วยวิธี Immunotherapy ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีผลค้างเคียงน้อย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ
มี 3 แบบ ขนาด SS, S, M, L, XL ราคาตัวละ 350 บาท ไม่รวมค่าส่ง สั่ง 1-2 ตัวมีค่าส่ง 50 บาท ถ้าสั่ง 3 ตัวขึ้นไปส่งฟรี

สั่งจองได้ที่ Line ID: @wefightcancer (มีเครื่องหมาย @ นำหน้า)

ยาภูมิต้านมะเร็งคืออะไร

ยาภูมิต้านมะเร็ง คือยากลุ่มใหม่ที่ใช้การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อนำไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง หรือเนื้อร้าย เมื่อเม็ดเลือดขาวได้รับการกระตุ้นยาภูมิต้านมะเร็งแล้วจะสามารถจัดการกับเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุด โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย ยาภูมิต้านมะเร็งนั้นเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ อาทิ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา

โรคมะเร็งนั้นเกิดจากการกลายพันธุ์ในระดับยีนหรือดีเอ็นเอ เมื่อเซลล์ปกติเกิดการกลายพันธุ์ จะทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติ มีการแบ่งเซลล์และกิจกรรมอื่นๆในเซลล์ที่ผิดแปลกไป จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความหลากหลายสูงมาก เช่น ในก้อนเนื้อมะเร็งที่อวัยวะเดียวกัน จากคนไข้คนเดียวกัน อาจมีลักษณะของการกลายพันธุ์ได้หลายแบบ กล่าวคือ ในก้อนเนื้อมะเร็งนั้นอาจมีเซลล์มะเร็งที่ต่างชนิดกันได้หลายแบบ และคนไข้มะเร็งคนละคนก็จะมีเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์คนละแบบกัน วิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน เช่น การฉายแสง การผ่าตัด และการให้ยาคีโมนั้นไม่มีความจำเพาะมากพอ ยาคีโมอาจจะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้บางกลุ่ม แต่การที่เซลล์มะเร็งมีความหลากหลาย ตัวยานั้นไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ทั้งหมด เพราะตัวยานั้นไม่สามารถสร้างความจำเพาะให้ใช้กับเซลล์มะเร็งได้ทุกแบบที่เกิดขึ้นกับคนไข้ทุกๆคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ เรากำลังพัฒนายาภูมิต้านมะเร็งอยู่ 2 ชนิดคือ วัคซีนต้านมะเร็ง (cancer vaccine) และแอนติบอดีแบบ checkpoint inhibitor เพื่อเปิดการทำงานของเม็ดเลือดขาว โดยการทำงานของยาภูมิต้านมะเร็งทั้งสองชนิด มีหลักการทำงานต่างกัน จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ยาทั้งสองชนิดมีผลในการยับยั้งโรคมะเร็ง และในบางกรณีจะมีผลดีที่สุดเมื่อใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน

วัคซีนต้านมะเร็ง (Cancer Vaccine)

หากเราเปรียบเซลล์มะเร็งหนึ่งเซลล์ ที่มีการกลายพันธุ์แบบหนึ่ง เป็นผู้ร้ายหนึ่งคน ดังนั้นก้อนเนื้อมะเร็งหนึ่งก้อนจะเป็นเหมือนกองโจรผู้ร้ายที่มีมากหน้าหลายตา และอาจมีการตอบสนองต่อยาได้ไม่เหมือนกัน การใช้ยาภูมิต้านมะเร็ง คือการใช้เซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเปรียบเป็นทหารของร่างกาย การทำให้ทหารไปต่อสู้กับกองโจรได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ จำเป็นต้องใช้วัคซีน และวัคซีนต้านมะเร็ง เป็นกลไกที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถจดจำลักษณะบนผิวเซลล์มะเร็งที่หลากหลายได้ เปรียบเสมือนเป็นการสอนให้ทหารรู้จักเป้าหมายที่ถูกต้อง

วิธีการทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวรู้จักเป้าหมายที่ถูกต้อง จะใช้เทคโนโลยีการศึกษาจีโนมซึ่งมีในศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทำการหาลำดับยีนทั้งหมดในเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของคนไข้นับแสนยีน นำมาเทียบกันเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่พบในเซลล์มะเร็งเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้แล้วในต้นทุนที่ไม่สูงมาก จากนั้นนำความผิดปกติในยีนนั้นมาวิเคราะห์หาแอนติเจนที่จะอยู่บนผิวเซลล์ด้วยโมเดลทางคอมพิวเตอร์ และนำเอาความรู้ของแอนติเจนนั้นมาสังเคราะห์วัคซีนในรูปแบบสายเปบไทด์ (peptide) นำไปฉีดกลับไปที่คนไข้ เพื่อกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งในที่สุด โดยวัคซีนนี้จะเป็นวัคซีนที่จำเพาะกับคนไข้คนนั้น (personalized vaccine) ไม่สามารถนำไปใช้รักษากับคนไข้มะเร็งคนอื่นได้ และวัคซีนนี้ครอบคลุมความหลากหลายของการกลายพันธุ์ในเนื้อเยื่อมะเร็ง ทำให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลากหลายได้

ยาแอนติบอดีแบบ checkpoint inhibitor

นั้นก็เพราะเซลล์ในร่างกายเกิดการกลายพันธุ์ทำให้เซลล์ไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของตัวเองได้ ดังนั้นเซลล์ธรรมดาจึงกลายเป็นเซลล์เนื้อร้ายที่เรียกว่ามะเร็ง โดยปกติเมื่อร่างกายเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น เม็ดเลือดขาวจะคอยทำหน้าที่ในการตรวจสอบและทำลายเซลล์มะเร็งเหล่านั้นทำให้ร่างกายของเราปลอดจากมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามเชลล์มะเร็งนั้นมีวิธีที่หลากหลายในการเอาตัวรอดหลบเลี่ยงการทำลายจากเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่เซลล์มะเร็งใช้คือการส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาวชนิด T-cells หยุดการทํางาน โดยที่เซลล์มะเร็งจะสร้างโปรตีนชื่อว่า PD-L1อยู่บนผิวของเซลล์ คล้ายเป็นแขนที่ยื่นออกมา โปรตีนชนิดนี้สามารถเข้าจับกับโปรตีนบนผิวของ T-cells ที่ชื่อ PD-1 คล้ายแขนที่ยื่นออกมาเช่นกัน การจับกันของโปรตีนทั้งสองชนิดนี้จะทําให้เซลล์มะเร็งสามารถส่งสัญญาณทำให้ T-cells หยุดการทํางาน กระบวนการนี้เรียกว่า immune checkpoint ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์สามารถหลบเลี่ยงการทำลายจากเม็ดเลือดขาวได้ถึงแม้ว่าจะถูกเม็ดเลือดขาวตรวจพบแล้วก็ตาม เซลล์มะเร็งที่อยู่รอดเหล่านี้จึงสามารถเพิ่มจํานวนจนกระทั่งคนๆ นั้นเป็นโรคมะเร็งในที่สุด

ยาภูมิต้านมะเร็ง (biologics) กลุ่ม immune checkpoint inhibitor เป็นยาแอนติบอดีที่สามารถเข้าไปจับกับโปรตีน PD-1 บนผิว T-cells หรือจับกับโปรตีน PD-L1 บนผิวเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะเจาะจงและส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถส่งสัญญาณยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด T-cells ได้ ทำให้ T-cells สามารถกลับมาตรวจสอบและทำลายเซลล์มะเร็งเหล่านั้นได้อีกครั้ง ยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor นั้นเป็นยาที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูงแตกต่างจากยาเคมีทั่วไป ด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนนี้ทำให้ยาสามารถจับกับเป้าหมายก่อโรคได้อย่างจำเพาะเจาะจง ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงและมีผลข้างเคียงต่ำ โดยจากการศึกษานำยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ไปใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ พบว่าให้ผลการรักษาที่ดี แม้กระทั่งกับมะเร็งในระยะสุดท้ายที่ไม่ได้ผลในการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานอื่นๆ เช่น การใช้ยาเคมีหรือการฉายแสงบำบัด ทำให้ในปัจจุบันยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งมากถึง13 ชนิด ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งหัวและคอ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นต้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ยาหนึ่งชนิดสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลากหลายชนิดเช่นนี้ และนอกเหลือไปกว่านั้นปัจจุบันยังคงมีการศึกษาอีกหลายร้อยการศึกษา เพื่อนำยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ไปใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถใช้รักษามะเร็งได้อีกหลายชนิด และยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor จะเป็นหนึ่งในแนวทางหลักสำหรับการรักษามะเร็งอย่างแน่นอน

เนื่องด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง ทำให้ยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor นั้นมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนทำได้ยาก ยากลุ่มนี้จึงมีราคาสูงมาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor เข้ามาใช้ในประเทศไทยแล้ว แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่า 8 ล้านบาทต่อราย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน คาดการว่ามีผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงยา biologics รักษามะเร็งนี้ได้อยู่ที่ระดับไม่ถึง 1% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ควรได้รับยา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและท้าทายอย่างมากที่เราจะต้องผลิตยากลุ่มนี้ใช้เองในประเทศให้ได้ เพื่อที่จะทำให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาให้อยู่ในระดับที่คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาสมัยใหม่ที่ประสิทธิภาพสูงเหล่านี้ได้

ยาภูมิต้านมะเร็งเป็นยากลุ่ม Biologics ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิต มีกลไกการทำงานเฉพาะ และมีความซับซ้อนสูง สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด มากกว่าการรักษาโดยใช้ยาคีโมในปัจจุบันซึ่งมีผลข้างเคียง ทำลายเซลล์ปกติไปพร้อมกัน

แผนงานวิจัยและความต้องการสนับสนุน

งานวิจัยยาภูมิต้านมะเร็ง เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการทำภูมิคุ้มกันบำบัด มีโครงการย่อยหลายโครงการ สำหรับงานวิจัยยาภูมิต้านมะเร็งของศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบนั้น มีเป้าหมายโครงการระยะสั้น 3 ปี และระยะยาว 4-10 ปี มุ่งเป้าเพื่อพัฒนาการรักษามะเร็งเพื่อคนไทยสามารถเข้าถึงยาภูมิต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพได้ ปัจจุบันโครงการได้เริ่มไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2559 ได้ทำการรวบรวมคนไข้มะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10 คน

เป้าหมายระยะสั้น 3 ปีแรก

โครงการวิจัยวัคซีนต้านมะเร็ง
ทำการตรวจหาการกลายพันธุ์ของคนไข้มะเร็ง และผลิตวัคซีนต้นแบบภายใน 2 ปีแรกของโครงการ ทางโครงการต้องการงบประมาณสนับสนุนอีกมาก ในปัจจุบัน การสังเคราะห์เปบไทด์จำเพาะที่ควบคุมคุณภาพสำหรับใช้ในการรักษาเพื่อเป็นวัคซีนต้านมะเร็ง ด้วยศักยภาพทางเครื่องมือของคณะแพทยศาสตร์ ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งทางโครงการต้องการสนับสนุนเครื่องสังเคราะห์เปบไทด์ เครื่องละ 3 ล้านบาท และประการที่สำคัญที่สุด เพื่อทำการทดสอบในคนไข้ และติดตามผลการรักษา จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำ CT scan และ MRI ซึ่งตกครั้งละหลายหมื่นบาท ซึ่งต้องทำโดยตลอดหลังจากที่ให้วัคซีนแล้ว เพื่อติดตามผลของวัคซีนและการตอบสนองของก้อนมะเร็งเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับคนไข้ในเบื้องต้น 20 คนจะตกอยู่ที่หลักสิบล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่อยู่ในกรอบหลักประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

โครงการผลิตยาแอนติบอดี checkpoint inhibitor
พัฒนายาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ต้นแบบ โดยจะทำการผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบ แล้วนำไปทำการทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลอง จากนั้นทำการนำยาต้นแบบที่มีคุณสมบัติดีไปทดสอบความปลอดภัยในลิง รวมทั้งสร้างระบบการผลิตยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ในปริมาณสูงจากระบบของเซลล์สิ่งมีชีวิต ซึ่งขั้นตอนการศึกษาพัฒนายาเหล่านี้ต้องใช้เครื่องมืออันทันสมัย และงบประมาณในการทำการศึกษาจำนวนมากในระดับกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้ได้ยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสำหรับนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

เป้าหมายระยะยาว 4-10 ปี

โครงการวิจัยวัคซีนต้านมะเร็ง
เพื่อขยายผลการรักษาให้ครอบคลุมและเข้าถึงไทยกับคนไทย ทางโครงการจะสร้างและพัฒนาระบบการตรวจหาการกลายพันธุ์ให้สามารถทำได้เร็วขึ้น และทำการผลิตวัคซีนขึ้นเองในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สามารถทำทุกขั้นตอนได้จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้สามารถทำได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

โครงการผลิตยาแอนติบอดี checkpoint inhibitor
ทำการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ในมนุษย์ โดยจะทำการศึกษาผลการรักษามะเร็งในผู้ป่วยจำนวนมาก (ระดับหลายร้อยคน) ภายใต้ระบบการดำเนินงานและการเก็บข้อมูลที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประเมิณประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาแอนติบอดี immune checkpoint inhibitor ที่ผลิตได้ รวมทั้งใช้ในการขึ้นทะเบียนยากับกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อให้สามารถทำการผลิตยาในปริมาณสูงและใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศได้ต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการศึกษาการรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์นี้ จำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการผลิตยา รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

สำหรับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ท่านสามารถร่วมบริจาคเงินผ่านทางบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์ สภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 408-004443-4 ซึ่งทางธนาคารสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งผลสำเร็จที่จะได้จากโครงการระยะยาวนี้ จะมีคุณประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมาก